Home ครูแชมป์ขี้เล่า ทำไมเด็กนักเรียนต้องแบกกระเป๋าใบโตๆ

Newsflash

แม้เหนื่อยยาก ลำบากสักเพียงไหน      ด้วยหัวใจความเป็นครูมิสูญสิ้น

ปณิธานสร้างดาวจากก้อนดิน                ให้ลูกศิษย์ ได้โบยบิน สู่หลักชัย / ครูแชมป์ พิริยะ (22 ก.ย. 55)

ทำไมเด็กนักเรียนต้องแบกกระเป๋าใบโตๆ PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย ครูแชมป์   
วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2019 เวลา 20:16 น.

ทำไมเด็กนักเรียนต้องแบกกระเป๋าใบโตๆ

ทำไมเด็กนักเรียนต้องแบกกระเป๋าใบโตๆ

ใครเลยจะรู้ว่าการเรียนในยุคปัจจุบันมันสร้างภาระให้กับหลายๆฝ่าย

ครูแชมป์จั่วหัวเรื่องนี้โดยจะพูดถึงกระเป๋านักเรียน กระเป๋าแทนที่จะเป็นสิ่งช่วยให้นักเรียนขนสิ่งของ สมุด หนังสือเรียน ได้อย่างสะดวก กลับกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งให้กับหลายๆฝ่าย ซึ่งครูแชมป์ขอรวบรวมเป็น 3 ฝ่าย ดังนี้

1. นักเรียน
ในระดับชั้นประถมที่เรียนเป็นชั่วโมง โดยปกติทั่วไปจะเรียนวันละ 5 ชั่วโมง ซึ่งจะมีวิชาสูงสุด 5 วิชา (ในชั่วโมงสุดท้ายของแต่ละวัน ส่วนใหญ่จะจัดเป็นชั่วโมงซ่อมเสริม) แต่บางโรงเรียนอย่างของครูแชมป์ เป็นโรงเรียนที่มีโครงการพิเศษอันเป็นการเปิดโอกาสมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ จึงมีชั่วโมงครบ 6 ชั่วโมง มีวิชาสูงสุด 6 วิชาต่อวัน

คำว่าวิชาสูงสุด หมายถึง ถ้าเรียนชั่วโมงละ 1 วิชา 6 ชั่วโมง ก็ 6 วิชา
แต่ถ้าวันไหนเรียนวิทยาศาสตร์หรือวิทยาการคำนวณ (คอมพิวเตอร์เก่านั่นแหละ) ซึ่งเรียน 2 ชั่วโมง ติดกัน ทำให้วิชาต่อวันจะลดไปเหลือ 5 วิชา



ภาระที่นักเรียนต้องแบกหนังสือต่างๆจะลดลงไป... ถ้าเด็กจัดตารางเรียน ไม่ขนไปทุกวิชา

ทำไมเด็กนักเรียนต้องแบกกระเป๋าใบโตๆ



2. ผู้ปกครอง
ในระยะหลัง ผู้ปกครองหลายท่านมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของนักเรียน เมื่อยิ่งมีข่าวนักเรียนที่มีกระดูกสันหลังคดยิ่งตื่นเต้น (แม้แพทย์จะออกมาพูดว่าน่าจะเป็นผลของโรคประจำตัวมากกว่า)

ครูแชมป์เชื่อว่า ผู้ปกครองทุกคนย่อมรักลูกหลานของตน ครูแชมป์ก็รักลูกศิษย์ของตน ไม่อยากให้ต้องแบกภาระหนักๆไปมาทุกวัน แต่ก็ยังหาทางออกที่ดีที่สุดจริงๆได้ยาก เพราะมันเป็นจุดเสี่ยงของเรื่องคะแนนค้างคา หลานท่านจึงเปลี่ยนกระเป๋าแบบลาก บางคนเห็นลากทั้งกระเป๋า หิ้วทั้งถุงผ้า ครูแชมป์ยังคิดว่า "มันเยอะไปป่าววะ" กับสิ่งที่เด็กต้องแบกไปมา มันต้องแก้ตรงไหน มันต้องแก้ที่ใคร



ทำไมเด็กนักเรียนต้องแบกกระเป๋าใบโตๆ

3. ครู
ในตอนนี้ คนที่อยู่ตรงกลางจริงๆคือครู
อยู่ระหว่างความห่วงใยของผู้ปกครอง และความห่วงใยของกระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงห่วงว่า เด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ควรจะเป็นอย่างไร ควรจะรู้อะไรบ้าง กำหนดหลักสูตร กำหนดตัวชี้วัดว่าเด็กต้องผ่านๆๆๆ อะไรบ้าง เมื่อทำหลักสูตรแล้ว ก็ต้องผลิตหนังสือออกมารองรับ แถมยังมีบริษัทเอกชนอื่นๆ สามารถเขียนตำรามาให้โรงเรียนเลือกใช้

ตรงนี้ของพูดเลยว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการบริหารจัดการไม่เหมือนกัน

บางโรงเรียนจัดซื้อได้เพียงหนังสือ
บางโรงเรียนจัดซื้อได้ทั้งหนังสือ และผู้ปกครองร่วมซื้อแบบฝึกหัดให้ด้วย

สมัยก่อนตอนครูแชมป์ยังเด็ก (พูดซะนาน) เวลาเราเรียนคณิตศาสตร์ (ค 101) เราก็จะเรียนในหนังสือ และทำแบบฝึกหัดในหนังสือโดยการลอกโจทย์มาลงสมุด แล้วค่อยๆนั่งทำจนหมดในแต่ละวัน ส่วนปัจจุบันทางสำนักพิมพ์ได้ทำแบบฝึกหัดแยกเล่มมาให้ด้วย สำหรับโรงเรียนไหนที่ไม่เอาแบบฝึกหัด ก็สามารถลองโจทย์ที่อยู่ในหนังสือมานั่งทำในสมุดเองได้เช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า แบบฝึกหัดแลกมาด้วยความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น


ณ ตอนนี้ ครูแชมป์ก็รู็สึกสับสนกับแนวทางการจัดการศึกษามาก ว่าตกลงแล้ว เราต้องการอะไร เราต้องการให้เด็กรู้อะไร เราต้องการให้เด็กแลกมากับอะไร แลกมากับกระเป๋าใบใหญ่ๆ หนักๆ อย่างนั้นเหรอ หรือเราต้องการให้เด็กเรียนรู้การบรรทุกสัมภาระแบบหน่วย SEAL หรือ RECON

คราวนี้ ย้อนกลับมาที่คำถามว่า "ทำไม ครูแชมป์ถึงไม่ให้เด็กเอาหนังสือไว้ที่โรงเรียน"
ก่อนหน้านี้ ครูแชมป์โดนเป็นครูประจำชั้นมาบ่อยครั้ง สิ่งหนึงที่เป็นปัญหาและพบในทุกปี ทุกชั้น ทุกเทอม คือการที่เด็กนักเรียนไม่ทำการบ้าน หมักงาน และเมื่อถึงเวลาที่ครูจะให้คะแนนก็เอามาเผาๆๆๆๆๆๆ
บางคน ไม่ว่าจะทำอย่างไร ทั้งไม้อ่อน ไม้แข็ง ก็ไม่ยอมทำงาน นั่นเพราะเขาเชื่อว่า "อย่างไรเขาก็ผ่านเลื่อนชั้น อย่างไรเขาก็จบ" ซึ่งเป็นลักษณะของ GEN Z

และเมื่อครูแชมป์ให้เอางานกลับบ้าน ผู้ปกครองที่ให้ความดูแล ใส่ใจลูกหลาน จะทำการตรวจงาน ตรวจการบ้านทุกวัน จะทำให้ทราบว่าลูกหลานยังไม่ทำตรงไหน เว้นเสียแต่ว่าใช้วิธีถามว่า "ทำการบ้านยังลูก" เด็กตอบว่า "เสร็จแล้วครับ" แล้วผู้ปกครองก็โอเค ไม่ขอดู ไม่ตรวจ ซึ่งเด็กจะเกิดการเรียนรู้ว่าเมื่อทำแบบนี้แล้วไม่ต้องทำงานหลังขดหลังแข็ง สบายไป แต่ถ้าใครขอดูแล้วลูกไม่ทำ จะไม่มีข้ออ้างที่ว่า อยู่โรงเรียน

ครูแชมป์ไม่รู้ว่ามันเป็นวิธีที่ดีหรือไม่ แต่พอได้ทำ PLC ทำให้ทราบว่า ครูหลายคนนำไปใช้ในภาคเรียนนี้

และในวันนี้ก็มีคุณครูท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านทนแรงทัดทานจากผู้ปกครองไม่ไหว บ่นว่าลูกต้องแบกกระเป๋า เลยปล่อยให้เอาหนังสือเอาไว้โรงเรียน ซึ่ง ณ ขณะนี้เริ่มมีการเชิญผู้ปกครองมาโรงเรียนแล้ว เพราะลูกหลานไม่ส่งงาน จะให้คิดว่าเป็นเรื่องอื่นคงไม่ได้ เพราะผู้ปกครองที่มาต่างพูดตรงกันว่าเด็กบอกว่า "การบ้านเสร็จแล้ว อยู่ที่โรงเรียน"

(อยากทำวิจัยเรื่องนี้จริงๆ)

...เราจะไม่ต้องให้เด็กแบกอะไรมากมาย ถ้าเด็กมีความรับผิดชอบ
...เราจะไม่ต้องให้เด็กแบกอะไรมากมาย ถ้าผู้ปกครองดูแลเรื่องงาน เรื่องการบ้านจริงจัง
...เราจะไม่ต้องให้เด็กแบกอะไรมากมาย ถ้าเด็กกับผู้ปกครองสื่อสารกันเข้าใจ
...เราจะไม่ต้องให้เด็กแบกอะไรมากมาย ถ้าหนังสือรุ่นใหม่ๆ ไม่ผลิตอะไรแบบยัดเยียด
...เราจะไม่ต้องให้เด็กแบกอะไรมากมาย ถ้าไม่มีการเปลี่ยนนโยบายตามตัวบุคคล
...เราจะไม่ต้องให้เด็กแบกอะไรมากมาย

ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน



ขอแอบแนะนำหนังสือนิดนึงครับ จะได้มาทบทวนเนื้อหาวิทยาศาสตร์ ป.4 - ป.6 แบบสั้นๆ ง่ายๆ อ่านเล่นๆ เน้นรู้จริง


หนังสือวิทยาศาสตร์

เด็ก (เก่ง) วิทย์ ติววิทย์กับครูแชมป์ประถมปลาย

หนังสือวิทย์ที่เหมาะสำหรับทุกคน

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก หนังสือวิทยาศาสตร์



แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2019 เวลา 21:18 น.