พลังเงินทำให้โลภ
ความโลภ ไม่เข้าใครออกใคร อย่าว่าแต่รายย่อยหรือเสี่ยใหญ่เลย ผู้ลงทุนสถาบันก็โลภได้
ใน Developed Market ผู้ลงทุนสถาบัน เป็นพลังใหญ่ที่สุดของ Supply และ Demand ในตลาดทุน เพราะมีสัดส่วนการซื้อขายมากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ผู้ลงทุนสถาบันจึงมีอิทธิพลสูงต่อราคาหลักทรัพย์ เพราะมีจำนวนเงินหน้าตักมหาศาลให้ซื้อขายจนอาจกลายเป็นการทำราคาในตลาดฯ หรือใช้ข้อมูลวงในไปดักซื้อดักขายก่อนกองทุนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนหรือ Nominee ได้ง่ายๆ (ตลาดหุ้นนิวยอร์ค NYSE มีสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันซื้อขายกว่า 50% ของการซื้อขายในตลาดฯ ส่วนของ SET บ้านเรามีประมาณ 10%)
ดูแค่พลังเงินของผู้ลงทุนสถาบันเฉพาะที่เป็นกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ สิ้นปี 2560 รวมกันก็ปาเข้าไป 6.84 ล้านล้านบาทแล้ว เท่ากับประมาณ 45% ของ GDP ประเทศ หรือ 39% ของ Market Cap ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ 52% ของเงินฝากธนาคารพาณิชย์ไทยเลยทีเดียว
ดูแค่นั้นหากยังไม่ชัดเจนถึงพลังเงิน ก็ต้องบอกว่า 6.84 ล้านล้านบาทนี่มันเท่ากับแบงค์พันมัดละแสน ได้รวม 68.4 ล้านมัด … มันจะเยอะขนาดไหนล่ะ ?
ก็แค่ใช้กระเป๋า เจมส์ บอนด์ มาใส่แบงค์พัน 40 มัดต่อใบ มัดละแสนก็เท่ากับใส่กระเป๋าใบละ 4 ล้านบาท ก็ต้องใช้ทั้งหมด 1.71 ล้านใบ … ขายกระเป๋าได้เป็นเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว
เมื่อมีเงินขนาดนี้มาให้เห็น ปัญหาที่จะเกิดก็คือ Greed … ความโลภไงละคะ
และมันก็ง่ายมากที่ผู้ลงทุนสถาบันจะทำอะไรที่ไม่สุจริต เช่น ไปดักซื้อหุ้น A ไว้ก่อนในชื่อ Nominee ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ไม่ใช่พ่อแม่ลูกเมีย ไม่ใช่ญาติ แล้วก็ออกข่าวเชียร์ในรูปแบบต่างๆ จะโดยตนเองหรือใครอื่นก็ตาม แล้วก็ใช้เงินจากกองทุนต่างๆ เข้าไปซื้อทีหลัง พอมีคนตามซื้อ ราคาก็ยิ่งขึ้น ก็ได้โอกาสขายออกจากพอร์ต Nominee ที่ดักซื้อไว้
หรือไปแอบตกลงกับเจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทนั้นๆ ว่าจะเอาเงินกองทุนไปซื้อในหุ้นหรือตราสารหนี้ของบริษัท แล้วตนเองก็ได้รับค่าตอบแทนต่างหาก ฯลฯ
เมื่อเงินมันเยอะ มันก็เลยมีพลัง หากเจอคนดี สุจริต ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเจอคนโลภ คนโกง พลังนี้ก็กลายเป็นพลังมืดที่กัดกินส่วนรวมไป
.
แต่แม้จะป้องกันไม่ได้ในทุกกรณี ในทุกคน หน่วยงานกำกับบริษัทจัดการ โบรกเกอร์ หรือ ก.ล.ต.ในประเทศต่างๆ ก็ต้องพยายามป้องกันไว้ เขาถึงมีกฏเกณฑ์ในการกำกับบริษัทหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อให้ทำหน้าที่ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ลงทุนสถาบัน Doing the right thing
ว่าไปแล้วก็เหมือนกับการกำหนดให้มีศีล 5 ศีล 8 หรือจะกี่ข้อก็ตามนั่นแหละ ส่วนใครจะทำ จะไม่ทำ ก็เป็นเรื่องที่จะมีการตรวจสอบเมื่อเกิดเหตุอันน่าสงสัยกันต่อไป
.
หลักการซื่อสัตย์สุจริต ความไว้วางใจ (Fiduciary Duties)
——————————————————————–
กฏหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับหลักการซื่อสัตย์สุจริต ความไว้วางใจ (Fiduciary Duties) เป็นหลักเกณฑ์ในการวางกรอบและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารว่าจะต้องดำเนินการภายใต้กฏเกณฑ์อย่างไร ถึงจะทำให้ ไม่ต้องมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา แม้ว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นจากการดำเนินงานนั้น
ประโยคท้ายนี้หากนำมาใช้ในอุตสาหกรรมจัดการลงทุน มันแปลว่าหากการลงทุนนั้นๆ ทำไปโดยสุจริต โปร่งใส ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือใครอื่น ทำตามกรอบกติกาและกฏหมายที่กำหนด มีเหตุผลอันสมควรและเป็นจริงในตอนที่ตัดสินใจลงทุนแล้ว … แม้การลงทุนในหลักทรัพย์นั้นๆ จะทำให้เกิดการขาดทุนในบางช่วง ผู้จัดการกองทุนก็ไม่ได้ผิดอะไร
.
ที่สำคัญก็คือ ต้องไม่ให้กองทุนเป็นแหล่งลงทุนเพื่อผลประโยชน์ของใครอื่นนอกเหนือไปจากผู้ลงทุนในกองทุนเท่านั้น โดยมีเป้าหมายเดียวในการจัดการกองทุน คือให้กองทุนบรรลุผลตอบแทนจากการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่กำหนด
ส่วนการจะตัดสินว่าได้ผู้จัดการกองทุนเขาทำหน้าที่ตามที่กำหนดในกรอบกติกาต่างๆ ได้ดีและเพียงพอหรือไม่นั้น จะพิสูจน์ได้จากเอกสารที่บันทึกไว้ โดยเฉพาะเหตุผลของการตัดสินใจลงทุน โดยบันทึกนี้จะไม่เพียงมีประโยชน์สำหรับนำมาเป็นหลักฐานในยามเกิดปัญหาเท่านั้น มันยังเป็นแผนผังให้คนรุ่นถัดไปได้เรียนรู้ที่มาที่ไปและขบวนการตัดสินใจในอดีตอีกด้วย
.
สิ่งที่ ก.ล.ต. กำหนด
————————
ก.ล.ต. ระบุว่าการประกอบธุรกิจจัดการเงินลงทุนของบุคคลอื่นหรือของประชาชน ต้องเน้นที่การกำกับดูแลโดยให้บริษัทจัดการดำเนินการตามหลักความไว้วางใจ (Fiduciary Duties) และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) รวมถึงป้องกันไม่ให้บริษัทจัดการมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนและเกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจโดยรวม
เมื่อเป็นดังนี้ บริษัทจัดการจึงต้องจัดให้มีโครงสร้างองค์กร ระบบปฏิบัติงาน ระบบควบคุมภายใน และความพร้อมของบุคลากร เพื่อรองรับการบริหารจัดการเงินลงทุนของลูกค้าให้เป็นไปตาม 3 หลักการดังต่อไปนี้
1. หลักความซื่อสัตย์สุจริต
2. หลักความระมัดระวัง
3. หลักการเปิดเผยข้อมูล
แต่ต่อให้กำหนดกฏหมาย กฏเกณฑ์ กติกา แนวปฏิบัติไว้เข้มงวดอย่างไร ถ้าคนมันจะโกงซะอย่าง มันก็โกงได้อยู่ดี ซึ่งก็เป็นปัญหาของแต่ละบุคคลไป
วรวรรณ ธาราภูมิ
20 พฤษภาคม 2561