เราควรขายกองทุนรวมเมื่อใด
ขอนำสาระน่ารู้จากพี่ตู่วรวรรณ มาฝากทุกๆท่านครับ
เราควรขายกองทุนรวมเมื่อใด
———————————–
มีคนถามกันบ่อยมากว่าเมื่อไหร่ที่เขาควรจะขายกองทุน หรือจะให้ถือกองทุนไปจนชั่วฟ้าดินสลาย
บางคนบอกว่าต้องการขายเพราะผลการดำเนินงานตอนนี้แย่ บางคนบอกว่าแม้ผลการดำเนินงานดีแต่เบื่อแล้วอยากเปลี่ยนกองไปซื้อของ บลจ. อื่นบ้าง บางคนก็ขายกองทุนประเภทหนึ่งเพื่อไปซื้อกองทุนประเภทอื่นที่กำลังฮิต
เมื่อเราถามไปยัง บลจ. ที่เราซื้อกองทุนนี้ เขามักจะตอบว่า “ไม่ควรขาย หากคุณมีการกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลากประเภทอย่างเหมาะสมแล้ว เพราะว่าแม้กองทุนหุ้นจะไม่ดีในช่วงนี้ แต่กองทุนประเภทอื่นๆ ยังดีอยู่ และโดยรวมแล้วพอร์ตการลงทุนของคุณให้ผลตอบแทนที่ดีพอเหมาะกับความเสี่ยงที่คุณยอมรับ”
ที่เขาตอบเช่นนั้นมันไม่ได้ผิด แต่ปัญหาก็คือคนไทยไม่ค่อยลงทุนระยะยาว เราจึงขายกองทุนออกเป็นครั้งคราว บางคนขายกองทุนหุ้นที่มีมูลค่า NAV ลดลงจาก 10 บาทต่อหน่วย แล้วไปซื้อกองทุนหุ้นเหมือนกันในราคา 4 บาทต่อหน่วยเพราะคิดผิดไปว่ามันถูกกว่า บางคนก็ขายแล้วเอาเงินไปซื้อกองทุนตราสารหนี้ หรือไม่กลับมาในกองทุนใดใดอีกเลยเพราะเข็ดแล้ว
.
คำถามที่ควรถามตนเองก็คือ มันเป็นการกระทำที่ฉลาดหรือไม่ที่จะขายกองทุนนี้ ในเวลานี้
คำตอบคือ “ใช่ คุณควรขาย” หากว่ามีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ใน 3 ประการข้างล่างนี้เกิดขึ้น
.
1. ผู้จัดการกองทุนคงจะหลับ หรือมีจำนวนกองทุนที่ดูแลมากเกินกำลัง หรือต้องเข้าประชุมบ่อยไป ทำให้ผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันของอุตสาหกรรม หรือเมื่อเปิดพอร์ตออกมาดูก็ไม่ใช่กองทุนเดิมๆ ที่เราชอบอีกต่อไปแล้ว
ในบางกรณีการที่กองทุนให้ผลตอบแทนที่ดีจนน่าตื่นใจอย่างไม่น่าเชื่อ ก็อาจต้องถึงเวลาขายออกไป
ตัวอย่าง …เมื่อกองทุน Legg Mason Value Fund (LMVTX) ให้ผลตอบแทนที่ดีจนน่าแปลกใจในขณะที่กองทุน Value Fund เหมือนๆ กันกลับย่ำแย่ เมื่อผู้ลงทุนดูพอร์ตของ Legg Mason Value Fund (LMVTX) ก็พบว่ามันไม่ใช่ Value Fund กองทุนนี้กลายเป็น Growth Fund และในช่วงที่ Value Stock ให้ผลตอบแทนที่ดี กองทุนนี้กลับติดลบ
ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุน Value Fund เพื่อปกป้องตนเองในยามตลาดหุ้นโดยรวมย่ำแย่ จึงต้องรีบขายกองทุนไปเพราะมันไม่ใช่กองทุนที่เขาต้องการอีกแล้ว (ในภาวะ ตลาดหมี-Bear Market นักลงทุนจำนวนมากพบว่าการลงทุนใน Value Stocks แม้ตลาดจะย่ำแย่ แต่หุ้นพวกนี้จะให้ปันผลที่คุ้มค่า แม้ว่าราคาหุ้นจะลดลงตามตลาด แต่เมื่อตลาดกลับมาดี ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้น)
2. ในบางครั้ง เราอาจจะต้องขายกองทุนหุ้นที่ดีที่สุดที่เราลงทุนออกไป เพราะว่ากองทุนนี้ไม่เหมาะสมกับตัวเราอีกต่อไปแล้ว เช่นเราลงทุนส่วนมากในกองทุนหุ้น และขณะนี้เหลืออีก 2-3 ปีจะเกษียณ เราจึงต้องกังวลเรื่องการปกป้องเงินต้นมากกว่าแสวงหาโอกาสในการได้ผลตอบแทนสูง เราจึงลดความเสี่ยงด้วยการลดสัดส่วนของกองทุนหุ้นให้น้อยลง
หรือในกรณีที่เราจะต้อใช้เงินที่ลงทุนจำนวนนี้ภายใน 2 ปี และเราพบว่าสัดส่วนการกระจายการลงทุนในพอร์ตทั้งหมดของเราไม่เหมาะสม เราจึงต้องกันเงินลงทุนบางส่วนให้ไม่ผันผวนเพื่อรองรับการใช้เงินในอีก 2 ปีข้างหน้า เราก็ต้องขายกองทุนหุ้นบางส่วนออกไป และไปหาการลงทุนที่เหมาะสม ไม่ผันผวนมากอย่างหุ้น เช่นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อให้เงินทำงานในการเพิ่มค่าขึ้นบ้างภายใน 2 ปี แม้ผลตอบแทนจะน้อยนิด แต่ก็จะไม่ผันผวนอย่างกองทุนหุ้น
ในการคัดเลือกกองทุนที่จะขายออกไปเพื่อลดความเสี่ยง และให้ตรงกับเป้าหมายระยะเวลาที่จะใช้เงินใน 2 ปีนั้น เราอาจเลือกขายกองทุนที่เราเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีเท่ากองทุนประเภทอื่นๆ ภายในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้าก็ได้
3. ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ถูกต้องที่จะถือครองกองทุนนี้อีกต่อไป เรื่องนี้แม้จะเป็นการยากที่จะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรถือกองทุนต่อไป เมื่อใดควรขายออกและซื้อเพิ่ม เพราะไม่ค่อยมีใครคาดเดาจังหวะเวลาได้ถูกต้อง
ตัวอย่าง … ในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2543 Sheldon Jacobs บรรณาธิการนิตยสาร No-Load Fund Investor ได้ขายกองทุนหุ้นเทคโนโลยีทั้งหมดออกไป และยังถือเงินสดถึง 40%ของพอร์ตลงทุนส่วนตัวของเขา
หลังจากนั้นไม่นาน ตลาดหุ้น NASDAQ ซึ่งเป็นกระดานหุ้นเทคโนโลยีและกลุ่มดอทคอมก็ดิ่งเหว การที่เขาขายออกไปก็เพราะเขาเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้แพงเกินปัจจัยพื้นฐานไปมากแล้ว แต่หลังจากนั้นอีก 1 ปี เขาก็กลับเข้าไปลงทุนในกองทุนหุ้นโดยเน้นกองทุนในกลุ่มเทคโนโลยีอย่างเต็มที่หลังจากราคาหุ้นกลุ่มนี้ลดลงไปจนต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น
มีนักลงทุนหลายคนที่ขายกองทุนที่ดีเกินไปกับขายกองทุนที่แย่เกินไป แล้วไปซื้อกองทุนอื่นที่คล้ายกับกองทุนที่ขายทิ้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ต้องหลีกเลี่ยง ก็ไม่รู้ว่าเขาทำไปเพื่อ ?
แต่สิ่งสำคัญมากคือเราจะต้องไม่ขายกองทุนที่กำลังทำงานอย่างเต็มที่ให้เราเป็นอันขาด เพราะนั่นจะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
.
วรวรรณ ธาราภูมิ
ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง