การเก็บภาษีตราสารหนี้จากกองทุนรวม
การเก็บภาษีตราสารหนี้จากกองทุนรวม
———————————————-
ในการฝากเงิน เมื่อได้รับดอกเบี้ย ผู้ฝากจะต้องเสียภาษี ซึ่งธนาคารเขาจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากดอกเบี้ยที่ลูกค้าได้รับ แล้วธนาคารก็นำเงินภาษีส่งสรรพากร เรียกว่าเมื่อใดมีรายได้ ก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ
แต่สำหรับกองทุนรวมนั้น เมื่อกองทุนนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ / เงินฝาก เวลาได้ดอกเบี้ยก็ไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และเมื่อกองทุนจ่ายเงินคืนให้ลูกค้าในแบบที่เรียกว่าลูกค้าขายคืนอัตโนมัติ (Auto-redemtion) ก็ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
ตรงนี้ไม่ได้ผิดกฏหมายเลย แต่เป็นช่องโหว่ที่สรรพากรไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนี้เลยตั้งแต่แรก และจำได้ว่ารัฐบาลตั้งแต่อดีตทุกรุ่นตั้งแต่มีอุตสาหกรรมกองทุนรวมมาจนถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่เคยมีแนวคิดว่าจะสนับสนุนกองทุนรวมด้วยการไม่เก็บภาษีตราสารหนี้ที่กองทุนรวมลงทุนเลย
เรื่องนี้ กลต.ก็เคยเตือนพวกเรามานานหลายปีแล้วว่าอุตสาหกรรมเราอาจจะไม่ได้เติบโตด้วยฝีมือหรือเปล่า และสรรพากรก็อาจมองได้ว่าเรากำลังเลี่ยงภาษี (อย่างถูกกฏหมาย) ซึ่งไม่ใช่เจตนารมย์ของรัฐบาลเลย ต่างกับการที่รัฐเต็มใจสนับสนุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ RMF กับ LTF และกองทุนหุ้น ด้วยการผ่อนภาระทางภาษีในรูปแบบต่างๆ
เมื่อธนาคารยังมีสภาพคล่องล้น หมายถึงมีเงินฝากเข้ามามากกว่าที่ปล่อยกู้ออกไป ในอดีตเมื่อยัง “ไม่มีกองทุนรวม” ธนาคารเขาก็เอาเงินที่เหลือนี้ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและอื่นๆ เพื่อให้สามารถหารายได้มาเพียงพอกับการต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ฝาก ซึ่งธนาคารเขาก็ต้องกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำๆ เพื่อจะได้ไม่ขาดทุนจากเงินฝากล้นแบงค์
และเมื่อใดที่เศรษฐกิจดี ธุรกิจต่างๆ จะมีความต้องการสินเชื่อ ถึงตรงนั้นธนาคารเขาก็ย่อมต้องการเงินฝากมากๆ เพื่อเอาไปปล่อยกู้ ถ้าเศรษฐกิจเครื่องร้อนได้ที่ กู้กันเยอะตามสภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจ ธนาคารเขาก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อให้ผู้มีเงินเหลือสนใจเอาเงินมาฝากกับธนาคาร
แต่หลายๆ ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเรายังไม่ถึงขั้นนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำๆ จึงอยู่กับเรามายาวนาน เพราะธุรกิจไม่ได้ต้องการสินเชื่อ ยังรอให้เศรษฐกิจไปได้ดีก่อน ธนาคารก็เลยไม่ได้ต้องการเงินฝากมากๆ เพราะเป็นต้นทุนที่เอาไปหารายได้จากการปล่อยสินเชื่อไม่ได้ ดอกเบี้ยก็เลยยังเตี้ยเรี่ยดินอยู่อย่างนี้
เมื่อมีกองทุนรวมตราสารหนี้มาเป็นทางเลือกให้ผู้ฝากเงิน และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน ลูกค้าก็พอใจที่จะลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนมันนี่มาร์เก็ต เป็น Term Fund หรือจะเรียกชื่ออื่นใดก็ตาม
ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทุนตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าฝากเงินก็คือการที่ไม่มีการหักภาษีตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุน แล้วที่อุตสาหกรรมของเราก็เติบโตขึ้นมากนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องภาษีนี้ด้วย
วันนี้ ก.คลัง ต้องการให้กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้เสียภาษีเหมือนที่ฝากธนาคาร ทางอุตสาหกรรมกองทุนรวมของเราจึงทำการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย มีการเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และแสดงผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ ฯลฯ ส่งให้คลังไปพิจารณาอย่างครบถ้วน
แต่เมื่อทางคลังพิจารณาแล้วยืนยันว่าต้องการให้เสียภาษีเหมือนภาคส่วนอื่น เราก็ยอมรับ และกำลังหารือกับสรรพากร กับ สศค เพื่อหาข้อสรุปถึงวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งสรรพากรเขาก็พยายามหาหนทางที่ดีที่สุดให้เราอยู่ โดยที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนไม่ได้ออกมาคัดค้านรุนแรงอย่างที่เป็นข่าว
ทีนี้จะเริ่มมีผลเมื่อไหร่นั้น ยังกำหนดไม่ได้
“จุดยืนของอุตสาหกรรมกองทุนก็คือ เมื่อรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมเราเป็นพิเศษในเรื่องไม่เสียภาษีดอกเบี้ยตราสารหนี้ และไม่ได้เป็นเจตนารมย์มาแต่ดั้งเดิม (ไม่เหมือนที่รัฐตั้งใจสนับสนุนกองทุน RMF, LTF, Provident Fund กองทุนตราสารทุน ฯลฯ ด้วยภาษีในรูปแบบต่างๆ) เราก็จะขอทำตัวเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ดี ที่จะเสียภาษีให้รัฐนำไปพัฒนาบ้านเมืองต่อไป เพราะเราเข้าใจดีว่าทรัพยากรหรืองบประมาณรัฐเป็นสิ่งที่มีจำกัด หากภาษีที่รัฐจะได้เพิ่มจากเราจะมีส่วนช่วยพัฒนาบ้านเมืองได้ เราก็ยินดี”
มีการถามว่า แบบนี้จะทำให้อุตสาหกรรมกองทุนปั่นป่วน หดลงมากมายเป็นแสนล้านหรือเป็นล้านล้านบาทเลยหรือไม่ ขอตอบว่าถ้าเราเติบโตได้เพราะเพียงได้ประโยชน์จากการไม่จ่ายภาษีตราสารหนี้ มันก็หมายความว่าผู้จัดการกองทุนไร้ฝีมือในการลงทุนอย่างสิ้นเชิง ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ก็ให้เงินไหลคืนไปฝากธนาคารกันให้หมดเถอะ
แต่ก็เชื่อว่าคนของเรามีฝีมือพอที่จะแสวงหาช่องทางลงทุนที่มีความเสี่ยงพอเหมาะกับผลตอบแทน และนั่นจะไม่ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่กลัวกัน นอกจากนี้ จะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมของเราแข็งแกร่งด้วยตนเอง มีพัฒนาการที่ดีกว่าอดีตเกิดขึ้นอีกมาก
.
วรวรรณ ธาราภูมิ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
18 พฤษภาคม 2560