เขาจะทำสงครามกันไหม ตอนที่ 5/5 : อย่ารบเลย อรชุน
เขาจะทำสงครามกันไหม ตอนที่ 5/5 : อย่ารบเลย อรชุน
——————————————————————
หากผู้มีอำนาจเชื่อว่าการใช้นโยบายการคลังผ่านการเพิ่มงบประมาณป้องกันประเทศ จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คำถามก็คือ มันจะจุดประกายให้เกิดสงครามระหว่างประเทศได้หรือไม่
โชคดี ที่นักเศรษฐศาสตร์หลายราย มีมุมมองที่แตกต่างไป
เขามองว่าสงครามไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆ ต่อเศรษฐกิจเลย
เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1990 จะพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ รุ่งเรืองด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4% ต่อปี อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 4% อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ 3.5%
ซึ่งความรุ่งเรืองนั้นไม่ได้เกิดจากสงคราม ส่วนงบประมาณรายจ่ายป้องกันประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงสงครามก็อาจไม่ทำให้มีการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น
- สงครามอิรัก-อัฟกานิสถาน ในช่วงทศวรรษ 2000s นั้น การเพิ่มขึ้นของงบประมาณไม่ได้ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ลดลงเลย
- สงครามอ่าว (Gulf War) ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างอิรัก กับกองกำลังผสม 34 ชาติภายใต้ UN ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ กลับเป็นเหตุให้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตกต่ำในภายหลัง
- ในสงครามเวียดนาม เราก็ไม่อาจสรุปได้ว่าก่อให้เกิดผลดีหรือเสียต่อเศรษฐกิจ
.
เหนือสิ่งอื่นใด การทุ่มงบประมาณภาครัฐไปกับการป้องกันประเทศย่อมส่งผลกระทบกับงบประมาณของประเทศเพื่อการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา การลงทุนในนวัตกรรม และการสาธารณสุข ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
Institute for Economics and Peace พบว่าการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงสงครามสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชั่วคราวเท่านั้น และเมื่อสงครามยุติลง GDP ของสหรัฐฯ ก็กลับลงมาแตะที่ระดับเส้น baseline ตามเดิม ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น และเยอรมนี กลับต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำภายหลังสงคราม
.
ท้ายที่สุด ไม่ว่าสงครามจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจหรือไม่ แต่การขยายตัวของ GDP จากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการป้องกันประเทศ ก็ไม่อาจเทียบได้กับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับสังคม ประชากร และการสูญเสียทรัพยากรจากภาวะสงครามได้
อย่ารบเลย อรชุน
.
โดย ฐนิตา ตุมราศวิน / ณัฐพัช กิตติปวณิชย์ (ทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง)
10 พฤศจิกายน 2559
ที่มา facebook คุณวรวรรณ ธาราภูมิ