เขาจะทำสงครามกันไหม ตอนที่ 1/5 : พื้นที่ขัดแย้งในปัจจุบัน
เขาจะทำสงครามกันไหม ตอนที่ 1/5 : พื้นที่ขัดแย้งในปัจจุบัน
————————————————————————
ในยุคนี้ กระแสความขัดแย้งระหว่างประเทศเริ่มเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน ผ่านการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น
- การรับกลุ่มประเทศทะเลบอลติก (ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย) ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เข้าเป็นสมาชิกพันธมิตรทางทหารขององค์การนาโตที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ แคนาดา และประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปในปี 2004
- การติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในโปแลนด์ซึ่งอยู่ใกล้กับรัสเซียในปี 2008 ที่ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกเปราะบางลงเรื่อยๆ จนรัสเซียได้เข้าแทรกแซงและควบคุมแคว้นไครเมียในปี 2014 (แคว้นไครเมียเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน) นำไปสู่การร่วมมือกันคว่ำบาตรจากนานาชาติ
- และล่าสุด รัสเซียก็กำลังถูกหลายประเทศประณาม หลังจากมีรายงานระบุว่ารัสเซียให้การสนับสนุนรัฐบาลซีเรียโจมตีฐานที่มั่นฝ่ายกบฏในเมืองอเลปโปของซีเรีย ส่งผลให้มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
- ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่ยืดเยื้อมายาวนาน จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนที่มีรัสเซียหนุนหลัง กับสหรัฐฯ เนื่องจากแต่ละประเทศรอบๆ ต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะหมู่เกาะ Spratly อันเป็นแหล่งที่น่าจะมีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันมหาศาล
เรื่องนี้แม้ศาลโลกจะเพิ่งตัดสินไปว่าจีนละเมิดสิทธิเหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone … EEZ) ของฟิลิปปินส์ และการอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ของจีนเพื่อครอบครองเป็นเรื่องที่ขัดกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (1982) แต่จีนก็ออกมาปฏิเสธคำตัดสินดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง พร้อมย้ำว่า …..
“คำตัดสินเช่นนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตึงเครียดและเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ามากขึ้น”
.
โดย ฐนิตา ตุมราศวิน / ณัฐพัช กิตติปวณิชย์ (ทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง)
10 พฤศจิกายน 2559
ที่มา facebook คุณวรวรรณ ธาราภูมิ