แบงค์ในเมืองไทยเอาเปรียบผู้บริโภคเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยจริงไหม
แบงค์ในเมืองไทยเอาเปรียบผู้บริโภคเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยจริงไหม
——————————————————————————-
วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
11 มิถุนายน 2559
(หมายเหตุ : ข้อมูลตัวเลขสัดส่วนเงินฝาก สินเชื่อ อะไรต่างๆ ในนี้ เป็นตัวเลขสมมติ ที่นำมาเขียนนำเสนอแนวคิดของที่มาของคำว่า “ส่วนต่างดอกเบี้ย” เท่านั้น หากท่านใดสนใจจะหาตัวเลขจริงให้ไปดูที่เวบไซท์ ธปท)
กำลังเป็นคำถาม คำติเตียน ไปทั่วทิศ ว่าแบงค์บ่านเราทำไมเอาเปรียบผู้บริโภคกันมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยด้านฝากเงินมันนิดเดียว แต่ด้านกู้มันห่างกันเยอะ
แบงค์จะเอาเปรียบกันไปถึงไหน
อย่างออมทรัพย์ตอนนี้ให้อัตราดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี (ธนาคารขนาดใหญ่ให้ประมาณนี้ แต่ที่ขนาดย่อมลงมาเขาให้ต่ำกว่า) แต่อัตราดอกเบี้ยด้านกู้กลับสูงกว่ามาก
เช่น MRR ซึ่งเป็นอัตรากู้สินเชื่อบ้านสำหรับรายย่อยชั้นดีอยู่ระหว่าง 6.75% ถึง 8.00% ต่อปี ขึ้นกับแต่ละธนาคาร
ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลพวก Personal Loans หรือบัตรเครดิตซึ่งไม่มีหลักทรัพย์อะไรมาค้ำประกัน เป็น 18.00% ถึง 20.00% ต่อปี ซึ่งถ้าเอาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 0.50% มาลบออก ก็จะได้ส่วนต่างตั้งแต่ 17.50% ถึง 19.50% !!
แต่หากเอาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ที่ 1.50% ไปหักออกจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านสำหรับลูกค้าชั้นดีที่ 6.75% ถึง 8.00% ก็เท่ากับธนาคารมีส่วนต่างดอกเบี้ยที่ 5.25% ถึง 6.50%
.
เอาละส่วนต่างจะเป็นเท่าไรก็ตาม จะ 6% หรือ 19% ฯลฯ มันก็เยอะละ ในสายตาผู้บริโภค
.
มาถึงตรงนี้ ขอให้ลองลืมคำว่าแบงค์ไปก่อน แล้วสมมติว่ากิจการแบงค์คือร้านขายผลไม้ของเรา
เมื่อร้านเราซื้อผลไม้เข้า เราก็มีต้นทุนจากผลไม้นั้น และเราไม่ได้ขายแต่มังคุดอย่างเดียว เรามีแตงโม มีมะม่วง มีเงาะด้วย
สมมติเราซื้อผลไม้ 4 อย่างนี้มาเข้าร้านเพื่อขายต่อ แล้วราคาซื้อของผลไม้ 4 อย่างเป็นอย่างนี้ …
มังคุด 10 กิโล กิโลละ 50 บาท รวมเป็นต้นทุน 500 บาท
เงาะ 8 กิโล กิโลละ 40 บาท รวมเป็นต้นทุน 320 บาท
มะม่วง 20 กิโล กิโลละ 90 บาท รวมเป็นต้นทุน 1,800 บาท
แตงโม 15 กิโล กิโลละ 100 บาท รวมเป็นต้นทุน 1,500 บาท
นี่เท่ากับเราจ่ายเงินซื้อผลไม้ 53 กิโล รวมไปทั้งสิ้น 4,120 บาท หรือเฉลี่ยเท่ากับมีต้นทุนกิโลละ 77.74 บาท
.
แบงค์ก็เหมือนร้านนี้ มีการซื้อเงินเข้าแบงค์เป็นเงินฝากเพื่อไปขายต่อเป็นสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นต้นทุนของแบงค์ เพราะแบงค์ต้องจ่ายให้ผู้ฝากเพื่อให้ได้สินค้าคือเงินสดเข้ามาในแบงค์ และก็มีหลายอัตราเหมือนมีผลไม้หลายชนิด
ต้นทุนโดยรวมของแบงค์จึงเป็นดอกเบี้ยโดยรวมที่ต้องจ่ายให้ลูกค้าเงินฝากหลากหลายประเภท หลากหลายอัตรานั่นเอง เพราะโดยทั่วไปแล้วไม่มีแบงค์ไหนที่จะเอาเงินฝากของนายต้น ไปปล่อยสินเชื่อให้นางต่อ ได้อย่างเฉพาะเจาะจง
.
กลับมาที่ร้านผลไม้กันอีกที ทีนี้เรามาตั้งราคาขายกัน ซึ่งในภาวะปกติคงไม่มีใครจะขายขาดทุน และหากตั้งราคาขายสูงไปก็จะขายไม่ออก เดี๋ยวลูกค้าประจำจะแห่กันไปซื้อที่ร้านคู่แข่งกันหมด เราก็จะแย่ เพราะของย่อมขายไม่ออก เน่าหมดร้าน ดังนั้น การตั้งราคาจึงต้องดูต้นทุนและพฤติกรรมของคู่แข่งประกอบไปด้วย
ธนาคารก็เช่นกัน
.
สมมติว่าแบงค์มีเงินฝากดังนี้ ……
ออมทรัพย์ 200 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.25% ต่อปี
ออมทรัพย์พิเศษ 50 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.50% ต่อปี
ฝากประจำ 3 เดือน 250 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.00% ต่อปี
ฝากประจำ 12 เดือน 400 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 1.50% ต่อปี
ฝากประจำ 24 เดือน 100 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.00% ต่อปี
รวมๆ แล้ว แบงค์นี้มีสินค้าเงินฝากในสต็อค 1,000 ล้านบาท และมีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เฉลี่ย 1.13%
.
ทีนี้นอกจากต้นทุนเงินฝากแล้ว แบงค์ยังมีกติกาที่ถูกกำหนดโดย ธปท เพิ่ม เช่น
1. ต้องจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟู (0.46% ของจำนวนเงินฝาก)
2. จ่ายประกันเงินฝาก (0.01% ของจำนวนเงินฝาก)
3. ฝากแบบไม่มีดอกเบี้ยที่ ธปท (1.00% ของจำนวนเงินฝาก)
4. ตั้งสำรองหนี้เสียที่ (2% ของสินเชื่อ แล้วแต่แบงค์ต่างๆ จะกำหนดให้เหมาะกับคุณภาพสินเชื่อของแต่ละแบงค์)
.
นอกจากนั้น การปล่อยสินเชื่อของแบงค์ก็ไม่ใช่ว่ามีเงินฝากเท่าไรแล้วจะไปปล่อยหมด ซึ่งดูรายละเอียดตัวอย่างการคำนวณได้ที่ภาพในตาราง ซึ่งต้องออกตัวว่าไม่ใช่ตัวเลขจริงที่แบงค์ไหน แต่สมมติขึ้นเพื่อให้คนที่สนใจได้เข้าใจวิธีการคิด
.
จากตัวอย่างในภาพตารางนี้ จะเห็นได้ว่าส่วนต่างจริงๆ อยู่ที่ 2.50% เท่านั้น ไม่ใช่ 6% หรือ 19% อย่างที่พวกเราคิดกัน
.
2.50% ที่ว่านี้ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในปี 2558 ก็นับว่ากลางๆ เพราะของอินโดนีเซียเป็น 5.8% / ฟิลิปปินส์เป็น 3.3% / ไทย 2.5% / มาเลเซีย 2.2% / และสิงคโปร์เป็น 1.7%
และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายพนักงาน อาคารสถานที่และอุปกรณ์ของสำนักงานใหญ่กับสาขา ค่าฝึกอบรมสัมนา ค่าเดินทาง ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เลยด้วย
เรียกว่ากำไรแบงค์จะมากจะน้อย ส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับฝีมือในการบริหารค่าใช้จ่าย อื่นๆ
.
อย่างไรก็ดี ในฐานะคนฝาก คนกู้ พวกเราคงอยากให้อัตราดอกเบี้ยด้านฝากสูงกว่านี้ และอยากให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลดลงกว่านี้ โดยเฉพาะสำหรับประชาชน
.
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ และเราควรตั้งเป้าให้ทำได้เท่าสิงคโปร์
.
ทางที่พอคิดออกคือ …
————————
1. เศรษฐกิจต้องดีขึ้นจนภาคธุรกิจอยากกู้ไปผลิตสินค้า ตรงนี้จะทำให้ปริมาณสินเชื่อที่ปล่อยได้สูงขึ้น และทำให้แบงค์ได้รายได้มากขึ้น ก็อาจจะต้องการเงินฝากมากขึ้นเพื่อไปปล่อยกู้ แบงค์ก็จะแข่งขันกันให้ดอกเบี้ยด้านฝากที่สูงขึ้น
2. ลดส่วนต่างดอกเบี้ยลง ด้วยการบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (กำไรจะได้ไม่ลด) เพราะอีกหน่อยไม่ต้องมีสาขาแบบที่เป็นอยู่นี้ เนื่องจากคนไม่อยากเดินทางไปสาขา และทำรายการผ่านอินเตอร์เนตได้ FinTech ก็กำลังเข้ามาแทนที่พนักงานกับระบบเดิมๆ
ลองเขียนเท่าที่พอคิดออกได้เท่านี้ หากผิดพลาดประการใดต้องขออภัย แต่รับรองว่าแนวคิดไม่ผิดพลาด เพียงแต่ไม่ลงรายละเอียดแบบวิชาการ ไม่ได้ไปถึง Net Interest Margin ก็เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ
.
สรุป
—–
1. ส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ได้สูงอย่างที่เราเห็น เพราะมีต้นทุนแฝง และปล่อยสินเชื่อไม่เต็มเงินฝากที่หาได้ แถมยังต้องตั้งสำรองหนี้สูญด้วย
2. ส่วนต่างดอกเบี้ยของเราอยู่กลางๆ ที่ 2.50% (ข้อมูลปี 2558 จาก ธปท) เป้นระดับกลางๆ ของภูมิภาคบ้านใกล้เรือนเคียง
3. แบงค์ควรลดส่วนต่างนี้ลงให้ได้เท่าสิงคโปร์ คือ 1.70% แล้วไปบริหารด้านค่าใช้จ่ายเพื่อให้กำไรไม่ลดลง
.
อย่าไปคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆ แพงด้วยนะ สงสารประชาชนที่ยังไม่มีทางเลือกอื่นกันบ้าง
เพราะถ้าเขาโกรธเคืองมากๆ พอมี FinTech เข้ามาแล้วเขาอาจจะเลิกคบแบงค์เลยก็ได้
หรือถ้า ธปท ใจแข็ง เห็นใจประชาชน ก็อาจจะเปิดเสรีให้แบงค์สิงคโปร์ หรือแบงค์ต่างชาติเข้ามาแข่งขันกันเยอะๆ ทีนี้แบงค์ที่ไม่ยอมมองลูกค้าก็จะลำบากกันละ
ที่มา : เฟซบุ๊กคุณพี่ตู่ วรวรรณ ธาราภูมิ