เกียรติของผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ (Investing with honor)

บางท่านที่ได้เริ่มลงทุน หรือกำลังอยากจะลงbkทุนในกองทุนรวม โดยคิดว่า เราฝากมืออาชีพลงทุนเลยดีกว่า ไม่ต้องเครียดมาก แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้จัดการกองทุนของเรา จะนำเงินของเราไปบริหารในทิศทางที่ดี

บังเอิญได้ไปเห็นข้อเขียนบนเฟสของพี่ตู่ วรวรรณ แม่ทัพหญิงของ บลจ. บัวหลวง เลยขอนำมาฝากครับ ว่าผู้จัดการกองทุนมีแนวการดำเนินการอย่างไร

เกียรติของผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ (Investing with honor)
————————————————————-
ทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง โดย พิชา เลียงเจริญสิทธิ์
19 สิงหาคม 2557

ทุกวันนี้ เราสามารถพบเจอข้อเขียนเกี่ยวกับการลงทุนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาว่าลงทุนอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะเป็นประเด็นที่คนส่วนใหญ่สนใจ แต่มีประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก คือการเป็นนักลงทุนที่ได้ชื่อว่ามีเกียรติของความเป็นนักลงทุนจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร

คำว่า ‘เกียรติ’ ความหมายโดยทั่วไปแล้วเรามักจะนึกถึงเรื่องของชื่อเสียง ความนับหน้าถือตา สำหรับนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จัก ก็ถือได้ว่าเป็นการมีเกียรติในลักษณะหนึ่ง แต่อีกมิติหนึ่ง คำว่า เกียรติ (honor) สำหรับการปฏิบัติหน้าที่อาจจะหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ซื่อตรง ตระหนักถึงความรับผิดชอบว่าสิ่งใดที่ควรหรือไม่ควรกระทำ และเป็นที่เชื่อถือได้

อาชีพการจัดการกองทุนนั้นถือเป็นอาชีพหนึ่งที่มีเกียรติในแง่ของการได้รับความนับหน้าถือตา แต่การจะทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนอย่างสมเกียรติจริงๆ นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะนอกจากเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว การบริหารจัดการกองทุนโดยยังรักษาความหนักแน่นต่อสิ่งที่ควรทำได้ตลอดก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย

ยกตัวอย่างเช่น โดยปกติแล้วผู้จัดการกองทุนจะเจอข่าวสาร ข้อมูล และความคิดเห็นจากสื่อต่างๆ จำนวนมาก และหลายครั้งที่ความคิดเห็นเหล่านั้นก็มีความขัดแย้งกันเองในเรื่องเดียวกัน บ่อยครั้งที่สื่อมักจะแต่งแต้มหรือเขียนเนื้อหาต่างๆ ที่กำลังเป็นประเด็นน่ากังวลให้ดูน่ากังวลมากขึ้นไปอีก ส่งผลให้ผู้จัดการกองทุนจำนวนมากเลือกที่จะเชื่อในแบบเดียวกับคนส่วนใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อข่าวลบเหล่านั้นในแบบที่ไม่เหมาะสมต่อการลงทุน

มีเพียงผู้จัดการกองทุนจำนวนไม่มากที่ยังหนักแน่นต่อมุมมองการลงทุนระยะยาว และเลือกที่จะไม่ใส่ใจกับความผันผวนของตลาดหรือผลตอบแทนระยะสั้น ด้วยความตระหนักถึงความรับผิดชอบที่ลูกค้าได้ไว้วางใจให้บริหารเงิน และไม่ทำการแสวงหาผลตอบแทนโดยนำเงินลูกค้าไปสุ่มเสี่ยงอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าการลงทุนแบบนี้จึงจะถือว่าเป็น ผู้จัดการกองทุนนั้นได้ทำหน้าที่การลงทุนได้อย่างสมเกียรติ

ในการตัดสินใจลงทุน นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่ลงทุน โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยระยะยาวเป็นหลัก
ตัวอย่างลักษณะผู้จัดการกองทุนที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์
—————————————————-
1. จัดการเงินลงทุนของลูกค้าเสมือนเป็นเจ้าของเงินเอง
ผู้จัดการกองทุนปฏิบัติต่อเงินลงทุนในฐานะ ‘มือปืนรับจ้าง’ กับผู้จัดการกองทุนที่ปฏิบัติต่อเงินลงทุนในฐานะ ‘เจ้าของเงิน’ จะมีผลลัพธ์ต่างกัน เพราะพฤติกรรมในการพินิจพิจารณาต่างๆ มีความรอบคอบไม่เท่ากัน
ผู้จัดการกองทุนต้องไม่เชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป หรือไม่ใช้ความชื่นชอบ มุมมอง หรือความเชื่อส่วนตัว มาใช้กับการบริหารเงินลูกค้า
ผู้จัดการกองทุนควรเปิดใจพิจารณาปัจจัยที่มีความเป็นไปได้ทั้งด้านความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุนทั้งหมด บนพื้นฐานของข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และควรหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรหรือเอาเงินลูกค้าไปสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการขาดทุนอย่างถาวร
2. หลีกเลี่ยงการแข่งกันผลักดันผลตอบแทนเทียบคู่แข่งในระยะสั้น
ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มักจะชอบดูผลตอบแทนเปรียบเทียบกับคู่แข่ง มากกว่าจะไปดูผลตอบแทนที่แท้จริง (Absolute returns)
การมีผลตอบแทนที่ดีกว่าคู่แข่งในระยะสั้นๆ อาจจะดีสำหรับการ “ขาย” กองทุนรวม แต่ถ้าไปเน้นมากเกินไป มันจะทำให้ผู้จัดการกองทุนลงทุนบนความเสี่ยงที่ไม่เหมาะสมได้
ผู้จัดการกองทุนที่ดี ต้องไม่พยายามสร้างผลตอบแทนเพื่อเอาชนะคู่แข่งในระยะสั้น เพราะความเคลื่อนไหวของราคาตลาดระยะสั้นนั้นมีแนวโน้มจะเป็นแบบสุ่มมากกว่า ในขณะที่การลงทุนที่ดีต้องใช้เวลาถึงจะเห็นผล
กองทุนจำนวนมากมักจะชอบโฆษณาโดยชูผลตอบแทนตัวเองในช่วงที่ผลตอบแทนดีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วผลตอบแทนที่ดีเฉพาะช่วงสั้นๆ มักไม่ยั่งยืนนาน และมักไม่มีใครทำผลตอบแทนที่ดีโดดเด่น (outperforms) ได้ทุกปี ดังนั้น ในการดูผลตอบแทนกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนทำได้ จึงต้องดูที่ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาว
ทั้งนี้ ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ บริษัทจัดการกองทุนจึงต้องมีความจริงใจกับลูกค้าในการสื่อสาร และอธิบายเกี่ยวกับปรัชญาและแนวทางการลงทุนของตัวเอง การโฆษณาว่าผลตอบแทนที่ดีในช่วงสั้นๆ จะสามารถ “รับประกัน” ผลตอบแทนในอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง และผิดต่อกฏหมายด้วย
3. ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า
ในธุรกิจกองทุนรวม เรามีกองทุนประเภทที่อิงกับดัชนีด้วยการสร้างพอร์ตโฟลิโอที่ใกล้เคียงกับดัชนีมากโดยมีค่าใช้จ่ายกองทุนเล็กน้อย แต่นั่นไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าในฐานะผู้จัดการกองทุน
คุณค่าเพิ่มจะมาจากมีแนวคิดที่นอกกรอบ คิดอย่างทะลุปรุโปร่งกล้าที่จะลงทุนสวนกระแส และมีความอดทนมากกว่านักลงทุนคนอื่น รวมทั้งให้ความสำคัญยิ่งกับการพิจารณาถึงความเสี่ยงที่แท้จริง เช่น ความล้าสมัยของธุรกิจ การขาดธรรมาภิบาล นโยบายบัญชีที่ไม่โปร่งใส หรือ การใช้จ่ายเงินของบริษัทที่ไม่เหมาะสม
4. ให้ความสำคัญบริษัทที่ลงทุน
การลงทุนนั้นมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เกิดความหลากหลายมาก เช่น ธุรกิจในแต่ละบริษัทที่แตกต่างกันออกไป ผู้บริหารที่แตกต่างกัน การแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความแข็งแกร่งทางการเงินที่ไม่เท่ากัน สภาพคล่องในการซื้อขายก็มีทั้งมากและน้อย และนักลงทุนก็จะชื่นชอบหุ้นที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา
การประเมินมูลค่าบริษัทจึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด บางบริษัทนั้นไม่น่าลงทุน เช่นมีหนี้สินเยอะเกินไป อย่างบริษัทด้านวาณิชธนกิจ (Investment bank) บางแห่งมีอัตราส่วนหนี้ต่อทุนถึง 30:1 ในปี 2007 ทำให้เกิดการล้มละลายตามมา ที่สำคัญ การไม่มีธรรมาภิบาลของผู้บริหารนั้นจะทำให้บริษัทนั้นไม่น่าลงทุนไม่ว่าจะช่วงเวลาใดก็ตาม
ในทุกๆ วันที่ปฏิบัติหน้าที่ ผู้จัดการกองทุนจึงต้องไตร่ตรองเสมอว่าได้ทำหน้าที่อย่างสมเกียรติหรือไม่ และต้องทำตามกฏเกณฑ์ ข้อบังคับ กับนโยบายกองทุนด้วย
ความสำนึกในหน้าที่ การทำหน้าที่อย่างมีเกียรติ สมศักดิ์ศรี ของผู้จัดการกองทุน จะทำให้ลูกค้าแน่ใจได้มากขึ้นว่าเงินลงทุนจากลูกค้าจะถูกนำไปลงทุนในบริษัทที่เหมาะสมมากที่สุด
(แปลและเรียบเรียงเพิ่มเติมจากข้อเขียนของ John Goltermann, CFA, CPA Senior vice president Obermeyer Asset Management เขียนเมื่อเดือนมิถุนายน 2557)

ขอบพระคุณพี่ตู่มากนะครับ ที่ให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ earn.kruchamp.com

Comments

comments