พวกครู แม่ง น่ารำคาญ พิมพ์
เขียนโดย ครูแชมป์   
วันเสาร์ที่ 25 กรกฏาคม 2015 เวลา 17:15 น.

วันนี้ (25 ก.ค. 58) ได้เดินทางกลับไปเส้นทางสายเก่าที่คุ้นเคย เพื่อไปกราบหลวงปู่แขก วัดสุนทรประดิษฐ์ และหลวงตาไหว ด้วย หาวิธีการสร้างความสบายใจให้กับตนเอง นั่นเพราะ เมื่อวานนี้ มีคำพูดของคนๆหนึ่ง (ในที่นี้ของเรียกว่า "มนุษย์ผู้ปกครอง") มาเข้าหูเมื่อคืน เลยทำให้กลับบ้านอย่างไม่สบายใจ คำๆนั้นก็คือ "พวกครู แม่ง น่ารำคาญ"



เรื่องมีอยู่ว่า โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก (ที่มีครูหน้าตาดีที่สุดอยู่ในห้องวิทย์<< เด็กบอก)  ได้จัดโครงการศึกษาดูงานระบบนิเวศป่าชายเลน และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีในบทเรียนของนักเรียน จริงๆแล้วไม่ต้องไปก็ได้ เพราะสอนตามหนังสือก็ดีอยู่แล้ว จะทำโครงการขึ้นมาเพื่อให้ลำบากทำไม

...แต่อย่าลืมว่า ถ้าเด็กได้เรียนรู้จากของจริง เขาจะจำได้ยาวนาน

จะว่าไป เด็กพวกนี้โชคดีกว่าเด็กโรงเรียนอื่นอีกหลายคน ที่เคยมองเห็นทะเลเพียงแค่ภาพในคอมพิวเตอร์ ในโทรทัศน์เท่านั้น

ในการพาเด็กไปร่วม 300 ชีวิต การบริหารจัดการของ "มนุษย์ครู" นั่นต้องรอบคอบ รัดกุม เพราะนั่นคือชีวิตของลูกศิษย์ทั้งนั้น หากใครมีลูก หรือท่านมนุษย์ผู้ปกครองท่านนั้นเลี้ยงลูกด้วยตนเอง ท่านคงทราบว่า ใน 1 วัน ที่ต้องดูแลเด็ก 1 คน มันยุ่งยากขนาดไหน แล้วสำหรับครูกับการดูแลเด็กทีละ 300 คน มันคงเป็นเรื่องที่.. ดี๊ดี.. เลอค่า.. สบายๆ..

โรงเรียนแห่งนั้นได้กำหนดโครงการ ระยะเวลา มีการประชุมเฉพาะเรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง (ประชุมตอนพักกลางวัน คุยไป กินไป เพราะต้องไปสอนต่ออีก) มีการจัดเตรียมเอกสาร ประสานสถานที่ ประสานขอวิทยากร ประสานเรื่องบัตรเข้าชม ประสานอาหารมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น ประสานเรื่องรถรับจ้าง ประสานรถนำขบวน ประสานหน่วยงานเบื้องบน จัดเตรียมเรื่องขออนุญาต เรื่องประกันอุบัติเหตุ เรื่องยารักษาโรค เรื่องการจัดที่นั่งของเด็ก เรื่องครูผู้คอยควบคุมประจำรถ ประจำกลุ่ม เรื่องการจัดเตรียมเอกสารใบบันทึกความรู้ เรื่องการทำแบบสำรวจความคิดเห็นต่อโครงการ และ... เรื่องปลีกย่อยเล็กๆอื่นๆ

ในวันเดินทาง รถออกเวลา 02.00 น. ซึ่งครูก็ต้องมากันตั้งแต่ 23.00 น. บางคนแจ้นไปตั้งแต่ 21.00 น. เพราะไม่สะดวกเวลาเดินทางตอนดึก นี่ยังไม่รวมน้องๆนักศึกษาฝึกสอนที่เป็นสตรี ว่าจะเดินทางอันตรายมากขนาดไหน เมื่อเด็กมาแล้ว ต้องจัดระเบียบเด็ก เช็คความพร้อม กว่าจะได้ขึ้นรถ ระหว่างทาง ต้องวางแผนอีกว่า จะสามารถหาห้องน้ำที่คน 300 คน ใช้งานได้จุดไหนบ้าง

ระหว่างเดินทาง ก็ต้องคอยควบคุมเด็กๆ ซึ่งเมื่อได้อยู่กลับกลุ่มเพื่อนแล้ว พฤติกรรมบางอย่างเค้าจะแสดงออกมา ซึ่งอาจจะต่างจากที่บ้าน บางทีโลดโผน เกินเลย อันตราย เสี่ยง ก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ครูอีกนั่นแหละ ที่ต้องไปกำราบ (ส่งสัยเด็กมันคงบ่นครูมากๆ)

เมื่อเข้าชมสถานที่ ก็ต้องมีครูควบคุมดูแล แบกยา แบกของเดินไปกับเด็ก แม้กระทั้งครูขาเป๋บางคนยังไม่เจียมสังขาร เดินเอาไม้เท้าตามท้ายขบวน เผื่อมีเด็กแอบออกจากกลุ่มมาเล่นกลางทาง สมน้ำหน้าครูคนนั้นจริงๆ กลับมาเท้าบวม แถมยังปวดไปถึงหลังอีก

นี่ยังไม่รวมว่า บรรดาลูกๆ มาฟ้องว่า "ครูคะ... ครูครับ..." สารพัดเรื่อง ไหนจะโดนแกล้ง แย่งที่ เงินหาย แบตโทรศัพท์หมด นั่งรถก็ต้องคอยดูอาการ ใครมีท่าทีไม่ดี ก็ต้องคอยจับกินยาแก้เมารถ บางคันไม่ทัน กลิ่นโชยทั้งคันตั้งแต่เดินทางจนกลับโรงเรียน

...บางคันโชคดี มีเด็กเข้าห้องน้ำแล้วไม่ราดด้วย (โอยยยยยย โรงเรียนเค้าไม่สอนวิธีเข้าห้องน้ำกับหนูหรือ)

แม้จะมีการวางแผนรัดกุมสักปานใด แต่ก็ยังต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ร่ำไป เหนื่อยมากๆอีกเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้คือ เวลา ต่อให้กำหนดเวลาไว้ขนาดไหน เด็ก 300 คน ก็ทำให้ทุกอย่างผิดแผนไปหมด นั่นเพราะ

- ห้องน้ำ
- ของฝาก
- กินข้าว

เด็กหนึ่งคนใช้เวลาประมาณเท่าไร ก็ลองคูณ 300 เข้าไป มันเป็นการทำงานที่ดึงดูดการโดนด่าทั้งนั้น ทั้งๆที่ไม่ใช่กิจกรรมบังคับ ใครไม่ไปก็ได้ ไม่มีผลใดใด เพียงแต่ประสบการณ์ในเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนเอง (บางคน ได้เรียนรู้ดีกว่านี้อีก เพราะทางบ้านมีฐานะ แต่ก็ยังมาเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ เราเรียกมันว่า "ทักษะทางสังคม" ชื่นชมตรงนี้ครับ)

ทุกอย่างกำลังจะจบด้วยดี แม้จะเลยเวลาไปเกือบ 2 ชม. อยากบอกเลยว่า เหมือนตัวจะขาดเป็นสองท่อนให้ได้ มนุษย์ครู พยายามจัดระบบให้ปลอดภัยสำหรับเด็กที่สุด เนื่องจากกลัวบางคนไปนอนบ้านเพื่อนเพราะคิดว่าผู้ปกครองไม่มารับ ก็หาวิธีระบายเด็กกับผู้ปกครองที่ไว และปลอดภัยที่สุด ในขณะที่กำลังตรวจสอบ และระบายเด็กอยู่นั้น เสียงของผู้ปกครองคนหนึ่งก็พูดขึ้นมา ราวกับมีเจตนาให้ครูได้ยิน

"พวกครู แม่ง น่ารำคาญ เรื่องมาก วุ่นวาย"

ไอ้ที่เหนื่อยๆ แต่ก็มีความสุขเพราะเห็นเด็กๆได้ยิ้มเวลาเห็นสิ่งใหม่ๆ ได้เต้นแร้งเต้นกากับเด็กบนรถ มันหมดไป... มันเหมือนมีคนเดินเข้ามาตบหน้าแล้วพูดประมาณว่า ทำไม มึงต้องพาลูกกูไปด้วย ถ้าลูกกูไม่ไป ป่านนี้ ลูกกูนอนหลับอยู่บ้านสบายไปละ

นี่คือเหตุการณ์ชีวิตคนเป็นครูใน 1 วัน งาน 1 วัน ที่ต้องใช้เวลาเตรียมการไม่รู้กี่วัน ประชุมไม่รู้กี่ครั้ง แล้วเวลาอีกเกือบ 11 เดือนของคนเป็นครู จะเจอปัญหามากเพียงไหน บางที ผมก็อยากจะให้คนที่พูดว่า "พวกครูสบาย เงินเดือนก็เยอะ ปิดเทอมก็มี" ลองมาเป็นครูสัก 1 เดือน มาลองทำงานกันจริงๆจังๆบ้าง ว่ามันยุ่งยาก ลำบากขนาดไหน ไหนจะเรื่องสอน เรื่องปัญหาเด็ก เรื่องผู้ปกครองที่คอยมาสำรวจว่า โรงเรียนไม่ดีตรงไหนบ้าง จับผิดยิ่งกว่า สมศ. อีก (ครูบางคนเขารู้สึกว่า โรงเรียนนี้ไม่ดี เขายังเขียนขอย้าย แต่ผู้ปกครองที่มองเห็นแต่ขอบกพร่องของโรงเรียน ในเมื่อไม่มีอะไรดีเลย ทำไม ถึงไม่ย้ายลูกไปโรงเรียนที่คิดว่าดีที่สุดในจุดที่ยืนบ้าง ชีวิตจะได้ง่ายกว่านี้)

ภารกิจ 1 วัน กับความท้อเท่าภูเขา มันเครียดและสร้างความกดดันของคนเป็นครูมาก แต่บอกเลย ถ้าได้เป็นครูโดยวิญญานแล้ว มันจะละทิ้งจุดนี้ไปไม่ได้หรอก ลูกศิษย์ มันก็คือลูกเรา ถ้าทำดีก็ชม ทำผิดก็ตี แต่พอมาเจออะไรแย่ๆ ที่บั่นทอนกำลังใจ มันก็ทำตัวลำบากเหมือนกัน

***วันนี้ก็เลยจัดไปในที่ที่อยากไป ไปพบคนที่อยากเจอ สร้างความสุขให้ตนเอง ให้รางวัลกับชีวิตบ้าง เดียววันจันทร์ก็ต้องไปทำอย่างอื่นที่นอกจากสอนอีก

...ครูครับ ผมมีวันนี้เพราะมีครู ผมรู้ว่าคนเป็นครูลำบากแค่ไหน กว่าจะปั้นให้ผมเดินได้ไกลขนาดนี้ ผมจะทำแบบที่ครูสร้างผมมาครับ ผมจะสร้าง "ศิษย์ครูแชมป์" เพื่อออกมารับใช้สังคมต่อไปครับ


ขอบคุณครับ

ครูแชมป์ พิริยะ

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 25 กรกฏาคม 2015 เวลา 18:34 น.