Home ครูแชมป์ขี้เล่า การสอนโดยรอคอยคำตอบ

Newsflash

KruChamp.com เครื่อข่ายวงการครู ในเครือ ดินแดนปัญญาชน จ้า

การสอนโดยรอคอยคำตอบ PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย ครูแชมป์   
วันอังคารที่ 16 มกราคม 2018 เวลา 22:25 น.
วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๑

เนื่องในวันครูจึงอยากเขียนอะไรยาวๆเกี่ยวกับครูสักหน่อย แต่อยากเรียนให้ทราบว่า ข้อเขียนนี้ไม่ใช่บทความทางวิชาการ ไม่ใช่แนวทางในการสอบบรรจุครู และเป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งของคนที่ได้ทำหน้าที่ครู

ครูแชมป์เกิดในครอบครัวที่มีพ่อกับแม่เป็นครูได้เห็นและซึมซับกับคำว่า "ครู" มาหลายปี แต่สิ่งที่เห็นนั้นกลับทำให้ไม่อยากเป็นครู

จุดเปลี่ยนคือ อาจารย์ท่านหนึ่งได้บอกว่า อาชีพครูนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด ด้วยคำพูดนั้นทำให้มุ่งมั่นเป็นครูหลังจากที่เรียนจบได้เพียง 3 วัน (ใบเกรดยังไม่ออกเลย)

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมไปถึงตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการสอนทำให้ที่ผ่านมาได้ทำการสอนในรูปแบบต่างๆโดยผนวกกับคำพูดของอาจารย์แม่ที่ว่า "ในตอนเด็กเราอยากได้ครูแบบไหน เราจงเป็นครูแบบนั้น"

ครูแชมป์ไม่มีสิทธิไปตัดสินวิธีการสอนของคนอื่นว่ามีข้อผิดอย่างไร
...เช่นเดียวกัน คนอื่นก็ไม่มีสิทธิมาบอกว่า วิธีการสอนของครูแชมป์ไม่ถูกต้องเช่นกัน

จิตวิทยาการเรียนรู้เราเรียนมาเหมือนกัน แต่เราใช้ต่างกัน ดังนั้นความถูกผิดขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความใส่ใจข้อแตกต่างของปักเจกบุคคลของเด็ก

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 ม.ค. 61 ครูแชมป์ได้ทำการถามนักเรียนไปหนึ่งข้อ นักเรียนก็ตอบแต่ยังไม่ครบถ้วนและหาจุดแตกต่างยังไม่ชัดเจน จึงได้ทำการสอนในขั้นตอน "การรอคอยคำตอบ" โดยคำถามข้อนั้นทำการรอคอยคำตอบถึง 40 นาที

ตอนเรียน ป.ตรี และ ป.โท ขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการสอนที่จะกระตุ้นให้เด็กคิด และก้าวไปสู่การคิดขั้นสูง แต่ด้วยเนื้อหาที่เพิ่มขึ้น กิจกรรมที่เพิ่มขึ้น นโยบายที่เพิ่มขึ้น มันทำให้เวลา่ที่จะรอคอยแทบไม่พอ ครูแชมป์นึกถึงบทความหนึ่งที่กล่าวว่าเด็กไทยก้าวตามเด็กสิงคโปร์ไม่ได้ เพราะเมื่อครูถามเด็กว่า หากเห็นผู้ชายสองคนยืนคุยกันหน้าร้านอาหาร คนหนึ่งแต่งตัวเป็นชาวประมง อีกคนผูกผ้ากันเปื้อน นักเรียนมองเห็นอะไร และเมื่อเด็กอาจตอบว่า เห็นคนยืนคุยกัน ครูบางท่านก็จะบอกว่า "เธอตาบอดหรือไง มองไม่เห็นเหรอว่าเป็นผู้ซื้อกับผู้ขาย เขาเอาปลามาขายให้ร้านอาหาร" (แล้วก็ตามด้วยคำพูดที่ทำให้เด็กนั่งหน้างอคอหัก คราวต่อไปก็ไม่กล้าตอบครูอีก)

การสร้างให้เด็กเก่ง กับการต่อยอดเด็กที่เก่งมันแตกต่างกัน

การสร้างให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์มันเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมและประเทศชาติ เพราะถ้าอนาคตเด็กเติบโตไปเป็นคนที่ไม่คิด ทำอะไรแบบตามใจไร้วิจารณญาน สังคมไทยจะเป็นอย่างไร

มันคุ้มนะ กับ 40 นาทีกับโจทย์ 1 ข้อ แลกกับเด็กจะรู้จักวิเคราะห์สิ่งที่อ่านมากขึ้น ยิ่งข้อสอบวิทยาศาสตร์จะถูกออกข้อสอบด้วยองค์กรยอดมนุษย์ที่ต้องตีลังกาวิเคราะห์ข้อสอบ เขาคงลืมไปว่า บางโรงเรียน เขาไม่มีครูที่จบตรงวิชาเอกมาเลยด้วยซ้ำ

นักการศึกษาบอกให้ครูรอคอยฝึกเด็กคิด
ผู้บริหารระดับสูงบอกครูไม่สอนคิด สั่งอลรมครูผ่านเว็บ ผ่านเขต ผ่านคูปอง
ครูสอนไม่ทันเลยต้องรีบเฉลยคำตอบ
เมื่อทำงานไม่ประสานกันระบบการศึกษาจะดีเท่าที่ควรได้อย่างไร

ป.ล. การลดนโยบาย ลดกิจกรรมอื่นที่รบกวนการเรียนการสอนและชีวิตครอบครัวของครู เป็นผลดีสำหรับเด็ก

...เพราะคุณภาพเด็กสะท้อนคุณภาพครู และคุณภาพครูไม่ควรถูกรบกวนจากคนที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษา

สวัสดีครับพี่น้องชาวไทย
ครูแชมป์ kruchamp.com
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 16 มกราคม 2018 เวลา 22:26 น.