กูรูนักลงทุน แนะกลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง
ในเวลานี้ ไม่มีใครไม่รู้จักดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรูนักลงทุนที่มีชื่อเสียง บางคนเรียกว่ากลุ่ม VI คือลงทุนแบบเน้นคุณค่า ซึ่ง นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ได้นำข้อเขียนของท่านเผยแพร่ดังนี้ครับ
กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่ง โดยดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร (กรุงเทพธุรกิจ)
20 มกราคม 2558
เด็กจบปริญญาตรีใหม่ๆ หรือเพิ่งเริ่มทำงานได้สักพักหนึ่งบางคน บางทีก็ “ฝัน” ที่จะร่ำรวยด้วยการลงทุนหุ้น
พวกเขารู้สึกว่าหุ้น ทำให้คนรวยได้เร็วและเหนื่อยน้อยที่สุด แต่ที่จริงพวกเขาอาจคิดว่าทำงานกินเงินเดือน “ไม่มีทางรวย” เพราะเขานับดูเงินเดือนที่ได้รับแต่ละเดือน แค่พอกินพอใช้ หรือบางทีไม่พอด้วยซ้ำ โอกาสที่จะรวยไม่มีแน่นอน แต่ถ้า “เล่นหุ้น” และประสบความสำเร็จอย่าง “เซียน” หลายๆ คนที่อ้างว่าเริ่มลงทุนด้วยเงินเพียงน้อยนิดหลักหมื่น หรือแสนบาท แล้วเป็นเงินหลายสิบ หรือหลายร้อยล้านบาทในเวลาไม่กี่ปี โอกาสรวยเป็นมหาเศรษฐีก็เป็นไปได้
ดังนั้น คนหวังรวยเร็วๆ ซึ่งเป็นแนวความคิดของเด็กรุ่นใหม่ จึงมุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น และทุ่มเทให้กับการลงทุน หรือเล่นหุ้นจน “ลืม” คิดถึงความเป็นจริง ที่อาจไม่เหมือนกับสิ่งที่รับรู้มา หรือความเป็นจริงของตนเองอาจไม่เหมาะกับการยึดถือการลงทุนเป็นอาชีพตั้งแต่เริ่มต้นทำงานหลังจากเรียนจบ
ผมคิดว่าคนที่หวังร่ำรวยเร็วๆ จากเงิน “เริ่มต้น” ที่น้อยหรือไม่มีเลย ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องสำหรับตนเองก่อน ประการแรก คือ ดูว่าตนเองมีจุดแข็ง หรือโดดเด่นด้านไหน ถ้าเป็นคนเรียนเก่งและจบสายวิทยาศาสตร์ เช่น วิศวกรรม หรือแพทย์ หรือไม่ก็จบด้านเกี่ยวกับการเงิน หรือธุรกิจในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศ
กรณีแบบนี้ เรามี “แต้มต่อ” เรื่องการทำงานในองค์กรธุรกิจ ถ้าขยันขันแข็ง มีมนุษยสัมพันธ์ดี โอกาสทำเงินได้มากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างมั่นคงจะมีมาก และนี่เป็นหนทางที่สร้างความมั่งคั่งได้
ว่าที่จริงสังคมไทยยุคใหม่ พนักงานที่ทำงานจนร่ำรวยหรือมีความมั่งคั่ง มีไม่น้อยเลยและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแบบอย่างของประเทศที่เจริญแล้ว ถ้าใครมีคุณสมบัติดังกล่าว ผมคิดว่าเราต้องใช้มันเต็มที่ นั่นคือ มุ่งหน้าสู่การทำงานธุรกิจที่กำลังเติบโตเร็ว ในบริษัทที่เปิดโอกาสให้เราเติบโตได้ จนกลายเป็นผู้บริหารระดับสูง เมื่อถึงจุดที่มีความมั่งคั่งโดยที่มีความเสี่ยงน้อย กรณีอย่างนี้ การทุ่มเทให้กับการทำงาน คือสิ่งที่ต้องทำเต็มที่
สถานการณ์ตลาดหุ้น “บูม” มานานนับสิบปีอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ และทำให้มีนักลงทุนที่รวยจากการลงทุนในหุ้นจำนวนมากรวมถึงคนหนุ่มสาวที่อายุเพิ่งจะสามสิบบวกลบ คนจำนวนมากจึงคิดว่า ตลาดหุ้น หรือการลงทุน คือสิ่งที่ทำให้เรารวยได้เร็วและง่าย
ดังนั้น การลงทุน จึงเป็นเส้นทางที่หลายคนเลือกตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ หรือเพิ่งทำงานมาไม่นาน หลายคนทุ่มเทกับการวิเคราะห์หาหุ้นลงทุน โดยให้ความสำคัญกับงานประจำน้อยกว่า เพราะคิดว่างานนั้นเป็นแค่ “ส่วนเสริม” ของการมุ่งหน้าสู่ความมั่งคั่ง พวกเขาอาจคิดว่าเมื่อถึงวันหนึ่งในอีกไม่นาน เขาจะลาออกจากงานและมาเป็นนักลงทุนเต็มตัว
ส่วนบางคน พวกเขาปฏิเสธการทำงาน หรือเลิกทำไปแล้วทั้งๆ ที่เงินลงทุนยังไม่มากพอที่จะมี “อิสรภาพทางการเงิน” แต่พวกเขาคิดว่า สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีพอที่จะนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และมีส่วนเกินที่จะนำไปลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวดเร็วจนเป็นคนร่ำรวย
เขาเชื่ออย่างนั้น เพราะผลงานที่ผ่านมาหลายปี สูงขนาดปีละ 50% หรือ เกิน 100% และเขามั่นใจว่า การทำผลตอบแทนปีละ 20-30% ขึ้นไป เป็นสิ่งที่ง่ายมากไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งผมคิดว่า พวกเขาคิดผิด!
ผมคิดว่าการ ที่จะพิสูจน์ได้ว่านักลงทุนคนไหนมี “ความสามารถสูงเป็นพิเศษ” ได้จริง ต้องผ่านการลงทุนที่ยาวนาน 15-20 ปีขึ้นไป และสร้างผลตอบแทนที่ผมอยากเรียกว่า “Total Return” อย่างน้อย 20% ต่อปีแบบทบต้น โดยเงินเริ่มต้นที่บันทึกต้องมีนัยสำคัญ คือ ไม่ใช่เงินเล็กน้อย ที่เขาอาจเสียไปครึ่งหนึ่ง โดยไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ
ตัวอย่างเช่น เงินเริ่มต้นที่จดบันทึกผลตอบแทน เท่ากับรายได้ทำงาน 4-5 ปี ของเขา และเขาก็ไม่มีแหล่ง “เงินสำรอง” อื่น เช่น เงินจากพ่อแม่ที่มีฐานะและพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุนเมื่อเกิดความจำเป็น และการวัดแบบนี้ ผมเชื่อว่า อาจพบว่าจำนวน “เซียนหุ้น” ในตลาดหุ้นไทยลดลงไปมาก
เหตุผลที่ต้องกำหนดเวลาการวัดผลงานที่ยาวนาน เพราะช่วงเวลาสั้นๆ นั้น เป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะอยู่ช่วงบูมจัด ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนจะสูง โดยไม่จำเป็นต้องมีความสามารถ
ส่วนผลตอบแทนทบต้นปีละ 20% ผมตั้งไว้ เพราะพอร์ตเริ่มต้นของคนหนุ่มสาว อาจไม่ใหญ่ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนได้สูงกว่าปกติได้ กรณีเริ่มลงทุนด้วยพอร์ตขนาดใหญ่เป็น 10 ล้านบาทขึ้นไป ผมคิดว่าผลตอบแทนถ้าได้ถึง 15% ต่อปีขึ้นไปต้องถือว่ามีฝีมือการลงทุนเป็นพิเศษ
ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดอีกเรื่อง คือ คำว่า Total Return หรือ “ผลตอบแทนรวม” ของการลงทุน เพราะหลายคนอาจไม่เข้าใจ;jkเวลาวัดผล หรือวัดความสามารถการลงทุน ก่อนอื่นต้องกำหนดเสียก่อนว่า เม็ดเงิน หรือพอร์ตการลงทุนรวมของตนเองคือเท่าไรก่อน
บางคนอาจคิดว่าเงินที่เอามาลงทุน “หุ้น” คือพอร์ตรวม ดังนั้น เวลาวัดผล จะดูว่าแต่ละปีได้กำไรจากการซื้อขายหุ้นเท่าไร แล้วบวกด้วยปันผล แบบนี้ผมคิดว่าไม่เหมาะ เพราะถ้าส่วนที่เรานำมาลงทุนในหุ้น มีเพียงนิดเดียว ต่อให้ผลตอบแทนในหุ้นสูงมาก ก็ไม่ทำให้เรารวย หรือทำให้ผลตอบแทนเม็ดเงินของเราทั้งหมดสูงขึ้นมาได้มาก วิธีที่ผมคิดว่าดีกว่า คือ กำหนดว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ที่เราไม่ได้ใช้ และนำไปหารายได้ไม่ว่าในรูปแบบใด ก็ถือว่าเป็นเงินลงทุนหมด
ตัวอย่างเช่น เงินฝากธนาคาร และหุ้นกู้ หรือพันธบัตรที่มีรายได้จากดอกเบี้ย คอนโดที่เราซื้อมาไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัย แต่นำไปปล่อยเช่า ซึ่งค่าเช่าเป็นผลตอบแทน แบบนี้ถือเป็นเงินที่ต้องนับรวมในพอร์ตการลงทุน ส่วนบ้านที่เราใช้อยู่อาศัย ไม่นับเป็นเงินลงทุนเช่นเดียวกับรถยนต์ที่เราใช้ ส่วนเครื่องเพชรและทองรูปพรรณที่ใช้แต่งตัว ไม่ถือเป็นเงินลงทุน
ขณะที่ทองแท่ง แม้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ “พร้อมขาย” และตั้งใจซื้อเพื่อลงทุน ต้องนับรวมในพอร์ต เมื่อเรากำหนดได้ทั้งหมดแล้วว่า อะไรเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน ก็จะคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินทุกรายการตาม “ราคาตลาด” ตอนต้นปีของแต่ละปี
กรณีที่ไม่มีราคาตลาดที่เราสามารถขายได้ชัดเจนเช่น คอนโด เราก็ควรกำหนดราคาที่ “อนุรักษนิยม” เช่น ใช้ราคาที่ซื้อมาแม้คิดว่าราคาเพิ่มขึ้นแล้ว เป็นต้น
ส่วนกรณี ทองแท่ง สามารถใช้ราคาตลาดได้ เพราะสามารถถูกนำไปขายได้จริง
หลังจากนั้น ก็รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าว และกำหนดว่านี่คือทุนทั้งหมดที่เรามีในการลงทุน
ผลตอบแทนรวม ก็คือ มูลค่าทรัพย์สินที่มีทั้งหมดตอนปลายปี ลบตอนต้นปี หารด้วยมูลค่าพอร์ตทั้งหมดตอนต้นปีคูณด้วย 100 จะได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนต่อปี และทำแบบนี้ปีแล้วปีเล่า
ถ้าตัวเลขเฉลี่ยแบบทบต้นสูงถึง 15-20% แสดงว่ามีความสามารถการลงทุนสูงจริง แต่ไม่ใช่เกิดจากการลงทุนในหุ้น หรือเลือกหุ้นเก่ง
แต่หมายความว่า สามารถจัดสรรเงินลงทุนในทรัพย์สินถูกต้อง นั่นก็คือ จัดสรรเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูง นั่นคือหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอื่น
การจัดเงินลงทุนทรัพย์สินอย่างอื่นด้วยสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนได้ นั่นอาจทำให้ ตัดสินใจยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงบ้างโดยไม่ลงทุนหุ้นทั้ง 100%
และนี่คือตัวเลขที่จะบอกว่า มีความสามารถการลงทุนมากพอที่จะใช้เป็นกลยุทธ์หลัก ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองหรือไม่
ขอบคุณพี่ตู่ วรวรรณ ที่กรุณานำบทความนี้มาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กนะครับ